บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเรียนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และขอขอบคุณผู้ที่เข้ามาร่วมชมบล็อกทุกท่านค่ะ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

การปรุงยา

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

          ข้อควรเข้าใจโดยทั่วไป

    ถ้าไม่ได้บอกว่าใช้สดหรือแห้ง ให้ถือว่าใช้สด

    เวลาใช้ภายใน ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้วิธีต้ม

    เวลาใช้ภายนอก ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้ตำพอก

    ยากินหรือรับประทาน ให้กินหรือรับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

    ยาต้ม ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 แก้ว  (250 ซี.ซี.)
    ยาดอง, ยาคั้นเอาน้ำ  ใช้ครั้งละ  1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ
    ยาผง  ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา
    ยาปั้น, ลูกกลอน ใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.)
    ยาชง ใช้ครั้งละ 1 แก้ว
          วิธีปรุงยาไทย

    ยาต้ม
    การเตรียม  ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปใช้ 1 กำมือ คือเอาต้นยามาขดมัดรอบกันเป็นท่อนกลม ยาวขนาด 1 ฝ่ามือ กว้างขนาดใช้มือกำได้โดยรอบพอดี ถ้าต้นยานั้นแข็งนำมาขดมัดไม่ได้ ให้หั่นเป็นท่อน ยาวขนาด 5-6 นิ้วฟุต กว้าง 1/2 นิ้วฟุต แล้วเอามารวมกันให้ได้ขนาด 1 กำมือ
    การต้ม  เทน้ำลงไปพอให้น้ำท่วมยาเล็กน้อย (ประมาณ 3-4 แก้ว) ถ้าปริมาณยาที่ระบุไว้น้อยมาก เช่น ใช้เพียง 1 หยิบมือ ให้เทน้ำลงไป 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ต้มให้เดือดนาน 10-30 นาที แล้วแต่ว่าต้องการเข้มข้นหรือเจือจาง รับประทานในขณะที่ยายังอุ่นๆ

    ยาชง
    การเตรียม  ปกติใช้ยมแห้งชง โดยหั่นต้นยาสดให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ให้เอาไปคั่วเสียก่อน จะมีกลิ่นหอม
    การชง  ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดลงไป 10 ส่วน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที

    ยาดอง
    การเตรียม  ปกติยาแห้งดอง โดยบดต้นสมุนไพรให้แหลกพอหยาบๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง ห่อหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ
    การดอง  เติมเหล้าให้ท่วมห่อผ้ายา ตั้งทิ้งไว้ 7 วัน

    ยาปั้นลูกกลอน
    การเตรียม  หั่นต้นสมุนไพรสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงในขณะที่ยังร้อน (เพราะแดด) อยู่ เพราะยาจะกรอบบดง่าย
    การปั้นยา  ใช้ผงยา 2 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ตั้งทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปั้นยาได้ง่าย ไม่ติดมือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ นำมาผึ่งแดดอีกที กันเชื้อราขึ้นยา












ที่มา  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs1-9.htm

การบำรุงรักษาพืชสมุนไพร


การบำรุงรักษา  เป็นการกระทำให้พันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้เจริญงอกงามต่อไป  ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้

    การพรางแสง  พันธุ์ไม้ต้องการแสงน้อยหรือพันธุ์ไม้ที่ยังอ่อนแออยู่ ควรจะได้มีการพรางแสง หากต้องปลูกพืชดังกล่าวในที่โล่งเกินไป การพรางแสงปกติจะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนพืชนั้นตั้งตัวได้ แต่ถ้าเป็นพืชที่ต้องการแสงน้อย ก็ต้องมีการพรางแสงไว้ตลอดเวลา หรือปลูกใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้จะเหมาะสมกว่า

    การให้น้ำ  ปกติการปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ สำหรับการให้น้ำจะต้องพิจารณาลักษณะของพืชแต่ละชนิดประกอบด้วยว่า ต้องการน้ำมากหรือน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบ้างตามสมควร แต่โดยหลักการแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ก็ควรจะให้น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ปกติให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากพิจาณาเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้ หรือหากแห้งเกินไปก็ต้องให้น้ำเพิ่มเติม คือต้องคอยสังเกตด้วย ทั้งนี้เพราะแต่ละท้องที่จะมีสภาพดินและอากาศแตกต่างกัน ส่วนการให้น้ำก็ต้องให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด แต่ก็พอสังเกตจากลักษณะของพืชนั้นได้ หากแสดงลักษณะเหี่ยวเฉาก็แสดงว่ายังตั้งตัวไม่ได้

    การระบายน้ำ  จะต้องหาวิธีการที่จะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้ ถ้าฝนตกน้ำท่วม โคนพืชที่ปลูกไว้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบรากของพืชได้ ทั้งนี้อาจทำโดยการยกร่องปลูก หรือพูนดินให้สูงขึ้นก่อนปลูก ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำขังได้ถ้ามีปัญหา
การพรวนดิน  จะช่วยทำให้ดินร่วนซุยเก็บความชื้นดี การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศเป็นไปได้ดี อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย จึงควรมีการพรวนดินให้พืชที่ปลูกบ้างเป็นครั้งคราว แต่พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนรากมากนัก และควรพรวนในขณะที่ดินแห้งพอควร

การให้ปุ๋ย  ปกติจะให้ก่อนปลูกอยู่แล้ว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ) รองก้นหลุม แต่เนื่องจากมีการสูญเสียไปและพืชนำไปใช้ด้วย จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่มเติมโดยอาจจะใส่ก่อนฤดูฝน 1 ครั้ง และใส่หลังฤดูฝน 1 ครั้ง ซึ่งอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือหว่านทั่วแปลง หรือใส่รอบๆ โคนต้น บริเวณของทรงพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดผสมน้ำฉีดให้ทางใบ
     การบำรุงรักษาพืชสมุนไพรควรหลีกเลี่ยงสารเคมี ไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ยหรือการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช เนื่องจากสารเคมีอาจมีผลทำให้ปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพรเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีพิษตกค้าง เป็นอันตรายต่อการใช้สมุนไพร ควรจะเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด

ที่มา  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs1-3_1.htm

การปลูกพืชสมุนไพร

การปลูกพืชสมุนไพร



        
 หลักการทั่วไปของการปลูกและบำรุงรักษาพืชทั่วไปและพืชสมุนไพร ไม่แตกต่างกัน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของพืชสมุนไพร จะเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพของสมุนไพรได้ พืชสมุนไพรต้องการการปลูกและบำรุงรักษาใกล้เคียงกับลักษณะธรราชาติของพืชสมุนไพรนั้นมากที่สุด เช่น ว่านหางจระเข้ ต้องการดินปนทราย และอุดมสมบูรณ์ แดดพอเหมาะ หรือต้นเหงือกปลาหมอชอบขึ้นในที่ดินเป็นเลน และที่ดินกร่อยชุ่มชื้นเป็นต้น หากผู้ปลูกสมุนไพรเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถเลือกวิธีปลูกและจัดสภาพแวดล้อมของต้นไม้ได้เหมาะกับพืชสมุนไพร ก็จะเจริญเติบโตได้ เป็นผลทำให้คุณภาพพืชสมุนไพรที่นำมารักษาโรคมีฤทธิ์ดีขึ้นด้วย
          การปลูกและการบำรุงรักษาพืชสมุนไพร โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ไม่จริงจังเท่าที่ควร บางประเทศได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า สภาพแวดล้อมอย่างไรจึงจะทำให้สาระสำคัญในพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ มากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน หรือการหาคำตอบว่าวิธีการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรแต่ละชนิด จะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและประหยัดมากที่สุด ในประเทศไทย หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีงานวิจัยด้านนี้อยู่บ้างและกำลังค้นคว้าต่อไป
การปลูก  เป็นการนำเอาส่วนของพืช เช่น เมล็ด กิ่ง หัว ผ่านการเพาะหรือการชำ หรือวิธีการอื่นๆ ใส่ลงในดิน หรือวัสดุอื่นเพื่องอกหรือเจริญเติบโตต่อไป การปลูกทำได้หลายวิธีคือ

    การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง  วิธีนี้ไม่ต้องเพาะเป็นต้นกล้าก่อน นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงได้เลย หลังจากนั้นใช้ดินร่วนหรือทรายหยาบโรยทับบางๆ รดน้ำให้ชื้นตลอดทุกวัน เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนจึงถอนต้นที่อ่อนแอออกเพื่อให้มีระยะห่างตามสมควร ปกติมักใช้ในการปลูกผักหรือพืชล้มลุกและพืชอายุสั้น เช่น กะเพรา โหระพา ส่วนการหยอดลงหลุมโดยตรงมักใช้กับพืชที่มีเมล็ดใหญ่ เช่น ฟักทอง ละหุ่ง โดยหยอดในแต่ละหลุมมากว่าจำนวนต้อนที่ต้องการ แล้วถอนออกภายหลัง

    การปลูกด้วยต้นกล้าหรือกิ่งชำ  ปลูกโดยการนำเมล็ด หรือกิ่งชำปลูกให้แข็งแรงดีในถุงพลาสติกหรือในกระถาง แล้วย้ายปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ การย้ายต้นอ่อนจากภาชนะเดิมไปยังพื้นที่ที่ต้องการ ต้องไม่ทำลายราก ถ้าเป็นถุงพลาสติกก็ใช้มีดกรีดถุงออก ถ้าเป็นกระถาง ถอดกระถางออกโดยใช้มือดันรูกลมที่ก้นกระถาง ถ้าดินแน่นมาก ให้ใช้เสียมเซาะดินแล้วใช้น้ำหล่อก่อน จะทำให้ถอนง่ายขึ้น  หลุมที่เตรียมปลูกควรกว้างกว่ากระถางหรือถุงพลาสติกเล็กน้อย  จึงทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้สะดวก วางต้นไม้ให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นกับรากอยู่เสมอกับระดับของขอบหลุมพอดี แล้วกลบด้วยดินร่วนซุย หรือดินร่วมปนทราย  กดดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษไม้ใบหญ้ามาคลุมไว้รอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันแรงกระแทกเวลารดน้ำ หาไม้หลัก ซึ่งสูงมากกว่าต้นไม้มาปักไว้ข้างๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้ คอยพยุงมให้ต้นไม้ล้มหรือโยกคลอนได้ ปกติใช้กับต้นไม้ยืนต้น เช่น คูน แคบ้าน ชุมเห็ดเทศ สะแก ขี้เหล็ก เป็นต้น หรือใช้กับพันธุ์ไม้ที่งอกยากหรือมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน

    การปลูกด้วยหัว  ปกติจะมีหัวที่เกิดจากราก และลำต้น เรียกชื่อแตกต่างกัน ในที่นี้จะรวมเรียกเป็นหัวหมด โดยไม่แยกรายละเอียดไว้ สำหรับการปลูกไม้ประเภทหัว ควรปลูกในที่ระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะเน่าได้  การปลูกโดยการฝังหัวให้ลึกพอประมาณ (ปกติลึกไม่เกิน 3 เท่าของความกว้างหัว) กดดินให้แน่นพอสมควร คลุมแปลงปลูกด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง เช่น การปลูกหอม กระเทียม
    การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้า  ปลูกโดยอาศัยหน่อหรือเหง้า อ่านรายละเอียดในการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร ข้อ 2.1

    การปลูกด้วยไหล  ปกตินิยมเอาส่วนของไหลมาชำไว้ก่อน จะย้ายปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้อีกครั้งหนึ่ง เช่น บัวบก แห้วหมู

    การปลูกด้วยจุก หรือตะเกียง  โดยการนำจุกหรือตะเกียงมาชำในดินที่เตรียมไว้ โดยใช้ตะเกียงตั้งขึ้นตามปกติ กลบดินเฉพาะด้านล่าง เช่น สับประรด

    การปลูกด้วยใบ  เหมาะสำหรับพืชที่มีใบหนาใหญ่ และแข็งแรง คล้ายกับการปลูกด้วยส่วนของกิ่งและลำต้น คือการตัดใบไปปักหรือวางบนดินที่ชุ่มชื้นให้เกิดต้นใหม่ เช่น ว่านลิ้นมังกร

    การปลูกด้วยราก  โดยตัดส่วนของรากไปปักชำให้เกิดต้นใหม่ขึ้น เช่น ดีปลี เป็นต้น


ที่มา  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs1-3.htm

การขยายพันธุ์สมุนไพร

การขยายพันธุ์พืชสมุนไพร



          การขยายพันธุ์  คือ การสืบพันธุ์ของต้นไม้โดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการเพาะเมล็ด การแตกหน่อ แตกตา ใช้ไหล หรือเง่าของพืช การขยายพันธุ์พืชทำให้เพิ่มจำนวนของพืชมากขึ้น การขยายพันธุ์พืชสมุนไพร แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

1    การขยายพันธุ์พืชโดยอาศัยเพศ  คือการนำเมล็ดที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ไปเพาะเป็นต้นกล้าให้เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ต่อไป ซึ่งลักษณะต้นใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะมีลักษณะที่ดีกว่าเดิมหรือเลวกว่าเดิมก็ได้
         วิธีการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีนี้ มีข้อดีคือ พืชมีรากแก้ว เป็นวิธีที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก มีวิธีการและขั้นตอนไม่มากนัก แต่มีข้อเสียที่กลายพันธุ์ได้ ต้นใหญ่ และกวาจะออกผลต้องใช้เวลานาน พืชสมุนไพรหลายชนิดเพาะพันธุ์โดยวิธีนี้  เช่น คูน ยอ และฟ้าทะลายโจร วิธีการที่สะดวกและนิยมกันมาก คือการเพาะใส่กระถางหรือถุงพลาสติก วัสดุที่ใช้คือ ขี้เถ้าแกลบดำ ทรายหยาบ หรือดินปนทราย แต่ที่เหมาะที่สุดคือขี้เถ้าแกลบดำ เพราะขี้เถ้าแกลบดำไม่จับตัวแข็ง ร่วนซุย โปร่ง ระบายน้ำได้ดี แดดส่องสะดวก ถุงพลาสติกที่ใช้ต้องเจาะรูให้น้ำไหลได้ วิธีทำโดยใส่ถ่านแกลบลงในถุงพลาสติก เสร็จแล้วล้างถ่านแกลบด้วยน้ำเพื่อให้หมดด่างเสียก่อน ถ้าหากไม่ใช้ถ่านแกลบดำ จะใช้ดินร่วนปนทราย โดยใช้ดินร่วน 2 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน ปุ๋ยคอกแห้งป่นละเอียด 1 ส่วน เอามาผสมให้เข้ากันดี หยอดเมล็ดให้ลึกพอประมาณ 2-3 เมล็ด (ถ้าเมล็ดใหญ่ใช้ 1 เมล็ด) ดูอย่าให้แดดจัด รดน้ำพอประมาณวันละครั้ง อย่าให้น้ำขัง เมล็ดจะเน่า เมื่อเมล็ดงอกแล้วให้ถูกแดดบ้าง เมื่อต้นเจริญเติบโตพอควรก็แยกไปปลูกในที่ที่ต้องการได้
  2  การขยายพืชโดยไม่อาศัยเพศ  คือการขยายพันธุ์พืชด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่น กิ่ง หน่อ หัว ใบ เหง้า ไหล เป็นต้น โดยนำไปชำ ตอน แบ่งแยก ติดตา เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) ให้เกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้
         ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยไม่ต้องอาศัยเพศ  คือไม่กลายพันธุ์ สะดวกต่อการดูแลรักษา ได้ผลเร็ว และสามารถขยายพันธุ์พืชที่ยังไม่มีเมล็ดหรือไม่สามารถมีเมล็ดได้ แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีรากแก้ว บางวิธีขยายพันธุ์ได้คราวละไม่มาก ต้องใช้เทคนิคและความรู้ช่วยบ้าง เช่น การตอน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น
    วิธีการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศมีหลายวิธี ในที่นี้จะแนะนำเฉพาะวิธีที่ใช้บ่อย และนำไปเลือกใช้กับการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร ที่จะแนะนำต่อไปได้ ส่วนวิธีการอื่น หากสนใจ สามารถศึกษาได้จากตำราวิชาการด้านการเกษตร
    2.1  การแยกหน่อ หรือ กอ  พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น กระชาย กล้วย ตะไคร้ ขิงข่า เตย ว่านหางจระเข้ ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อหรือกอ ทำได้โดยก่อนแยกหน่อ จะต้องเลือกหน่อที่แข็งแรง มีใบ 2-3 ใบ ใช้น้ำรดให้ทั่วเพื่อให้ดินนุ่ม ขุดแยกออกมาอย่างระมัดระวัง อย่าให้หน่อช้ำ เมื่อตัดออกมาแล้ว เอาดินกลบโคนต้นแม่ให้เรียบร้อย นำหน่อที่แยกตัดรากที่ช้ำ หรือใบที่มากเกินไปออกบ้าง แล้วนำไปปลูกลงในกระถางหรือดินที่เตรียมไว้  กดดินให้แน่น เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม เก็บไว้ในที่ร่ม ถ้าปลูกลงแปลงก็บังร่มเงาให้จนกว่าต้นจะแข็งแรง ดูแลอย่าให้น้ำขัง
    2.2  การปักชำ  พืชสมุนไพร เช่น หญ้าหนวดแมว ขลู่ ดีปลี ปักชำได้ง่าย โดยใช้ลำต้นหรือกิ่ง โดยเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ใช้มีดหรือกรรไกรที่คม ตัดเฉียงโดยให้กิ่งชำมีตาติดอยู่สัก 3-4 ตา ตัดแล้วริดใบออก ให้เหลือใบแต่น้อย ใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดกันเชื้อรา นำไปปักลงบนกระบะที่บรรจุถ่านแกลบดำ หรือดินร่วนปนทราย ผสมแบบเดียวกับการเพาะเมล็ด การปัก ให้ปักตรงๆ ลงไปในดิน ไม้ใหญ่ปักห่างกันหน่อย ไม้เล็กปักถี่หน่อย กลบดินให้แน่น ไม่ให้โยกคลอน การรดน้ำให้สม่ำเสมอ และอย่าให้แฉะ และอย่ารดน้ำแรง จะทำให้กิ่งโยกคลอน เมื่อรากแตกและมีใบเจริญขึ้น ก็ย้ายไปปลูกในที่ที่เตรียมดินไว้



ที่มา  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs1-2.htm